นกแก้วคอนัวร์กรีนชีค เยลโล่ไซด์

นกแก้วคอนัวร์ (Cornure) สายพันธุ์กรีนชีค มีข้อดีอยู่หลายประการ อาทิ จัดเป็นนกที่ร้องเสียงไม่ดังเหมือนกแก้วประเภทอื่น เมื่อนำมาเลี้ยงไม่รบกวนเพื่อนบ้าน นอกจากนั้น นกแก้วในกลุ่มนี้สามารถพัฒนาสีให้มีความหลากหลายได้ คือ ผสมข้ามให้เกิดสีใหม่ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น


ในอดีตมีการสั่งนำเข้านกกรีนชีคจากต่างประเทศมีสีหลัก ๆ อยู่ 3 สีคือ สีซินิมอล, เยลโล่ไซด์, บลู ฯลฯ แต่ปัจจุบันมีคนไทยผสมพันธุ์ ได้เพิ่มออกมาอย่างน้อย 4 สี คือ สีซินิมอล เยลโล่ไซด์, บลูซินิมอล, บลูเยลโล่ไซด์ และบลูซินิมอลเยลโล่ไซด์ สายพันธุ์กรีนชีคสามารถเลี้ยงเพื่อการส่งออกได้ด้วย


ขณะนี้นกแก้วคอนนัวร์กรีนชีคเป็นนกที่เพาะได้ในเมืองไทย เมื่อนำมาเลี้ยงจะมีนิสัยที่รักเจ้าของ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีขนาดของลำตัวยาวประมาณ 24 เซนติเมตร (วัดจากหัวจนถึงปลายหาง) เป็นนกที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ เป็นนกที่มีขนาดเล็กกว่านกแก้วโมงของเรา จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่ากรีนชีคเป็นนกที่ฉลาด, สอนพูดได้และเชื่อง ถึงแม้จะเป็นนกแก้วที่มีขนาดใหญ่สามารถเลี้ยงในพื้นที่จำกัดได้ กรงที่ใช้เลี้ยงใช้ขนาดความกว้าง 70-80 เซนติเมตร ความยาว 1.50 เมตร (ถ้ามีเนื้อที่กว้างกรงจะยาวกว่านี้ยิ่งดี)


อาหารหลักที่ใช้เลี้ยงคือ ข้าวไรท์, เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ ในเรื่องของการเพาะขยายพันธุ์นกแก้วกรีนชีคไม่ยาก เน้นในเรื่องของการให้อาหารที่ดีและทำให้พ่อ-แม่นกมีความสมบูรณ์เต็มที่ มีรังให้มันออกไข่ (ภายในรังหาขี้กบจากการไสไม้ซึ่งมีลักษณะหยาบกว่าขี้เลื่อย) ความจริงแล้วกรีนชีคที่จะใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ควรจะมีอายุอย่างน้อย 8 เดือน แต่ถ้าจะให้ดีควรจะมีอายุ 1 ปีจะดีกว่าข้อดีอีกประการหนึ่งของนกแก้วชนิดนี้คือจับคู่ได้ง่าย ไม่ค่อยพบปัญหานกตีกันหรือรังแกกัน


สำหรับฤดูกาลผสมพันธุ์ของนกแก้วชนิดนี้สามารถผสมพันธุ์ให้ออกไข่ได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาที่นกชอบมากที่สุดคือ ระหว่างเดือนกันยายน-เดือนมีนาคม ถ้าแม่นกมีความสมบูรณ์จะออกไข่ได้ปีละ 3-4 คอก และในการออกไข่ครั้งละประมาณ 6 ฟอง แต่เดิมนกแก้วกรีนชีคที่มีเลี้ยงในบ้านเรามีสีเขียวเป็นหลัก ดูแล้วไม่น่าสนใจเท่าไร ต่อมามีการผสมพันธุ์จนมีสีสันที่มีความหลากหลายมากขึ้น ตลาดมีการขยายตัวมากขึ้น และหวังว่าในอนาคตจะทำการผสมพันธุ์ให้ได้กรีนชีคที่มีโทนสีขาวและสีเหลือง ซึ่งราคาจะแพงขึ้นแน่นอน